เรื่องของฝ้า
ฝ้า (melasma) คือ ปื้นสีน้ำตาล ที่เกิดบริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก คาง ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกแสงแดด (แต่อาจเกิดที่แขนได้) มักเป็นเหมือนกันทั้ง 2 ข้างของใบหน้า ฝ้าพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนของหญิงต่อชายเท่ากับ 12:1 พบมากในวัยกลางคนอายุประมาณ 30-40 ปีขึ้นไป
สาเหตุ
พยาธิกำเนิดยังไม่ทราบแน่ แต่เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน มีผลทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีในชั้นหนังกำพร้า ปัจจัยเหล่านี้อาจได้แก่
1. แสงแดด
เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในแสงแดดมีส่วนประกอบของ รังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง เอ และ บี รวมทั้งแสงขาวที่มองเห็นได้ (visible light) ซึ่ง เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้า หรือทำให้ฝ้าเป็นมากขึ้น จึงพบฝ้ามากในประเทศเขตร้อน เพราะได้รับแสงแดดมากกว่าที่อื่น ซึ่งเราต้องทราบว่าความเข้มของแสงแดดในแต่ละช่วงเวลาของวันจะไม่เท่ากัน โดยจะมีความร้อนและปริมาณอัลตราไวโอเลตมากที่สุดในช่วงเที่ยงวัน
2. ฮอร์โมนเพศหญิง
มักพบผู้ป่วยที่เป็นฝ้าขณะตั้งครรภ์ ในคนที่รับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด ได้บ่อยกว่าคนทั่วไป จึงเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศน่าจะเป็นตัวการทำให้เกิดฝ้า แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ฮอร์โมน เอสโตรเจน (estrogen), โปรเจสเตอโรน (progesterone) หรือ MSH ที่ทำให้เกิดฝ้า
3. ยารับประทานบางชนิด
พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานยากันชัก diphenylhydantoin, mesantoin มักเกิดผื่นดำคล้ายรอยฝ้าที่บริเวณใบหน้า จึงเชื่อว่ายานี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า
4. เครื่องสำอาง
การแพ้ส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาจทำให้เกิดรอยดำแบบฝ้าได้ ส่วนผสมที่ทำให้แพ้อาจเป็นจากสารที่ให้กลิ่นหอม หรือจากสีในเครื่องสำอางนั้นๆ
5. พันธุกรรม
เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากมีรายงานว่าเป็นในครอบครัวได้ถึง ร้อยละ 30-50 ฝ้าพบได้บ่อยในคนเอเชีย อย่างไรก็ตามการเกิดฝ้านั้นอาจเป็นอิทธิพลของพันธุกรรม แสงแดด หรือเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก็ยังไม่ทราบแน่
การรักษา
หลักการรักษาฝ้า มีดังนี้
1. พยายามหาสาเหตุ และแก้ไข หรือหลีกเลี่ยง
- หยุดรับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด
- ใช้ครีมกันแดด
- หลบเลี่ยงแสงแดดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรอยู่กลางแดดในช่วงแดดจัด และควรใช้ร่ม ให้เป็นนิสัย
- แก้ไขภาวะผิดปกติทางการแพทย์ต่าง ๆ
- หยุดเครื่องสำอางที่ทำให้เกิดอาการแพ้
2. ยารักษาฝ้า
ในปัจจุบันมียาทาฝ้าชนิดต่าง ๆ วางขายมากมายในท้องตลาด ผู้ป่วยควรศึกษาส่วนประกอบและคุณภาพของครีมดังกล่าวให้ดีพอก่อนการตัดสินใจ เพราะทางการแพทย์พบว่ามียาฝ้าจำนวนมากที่วางขาย โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อผู้ป่วยใช้แล้วทำให้เกิดการระคาย บวมแดงในระยะแรกที่ใช้ และถึงแม้ว่าครีมบางชนิดไม่เกิดผลข้างเคียงในระยะแรก แต่อาจทำให้เกิดผิวบางแดง มองเห็นเส้นเลือดฝอย กลายเป็นฝ้าเส้นเลือด ซึ่งรักษาให้หายยากมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยบางรายกลับมีหน้าดำมากยิ่งกว่าเดิมจากการแพ้หรือจากการใช้ยาฝ้าเป็น เวลานาน ที่เรียกว่า ภาวะโอโครโนซิส (Ochronosis) ดังนั้นผู้ป่วยควรไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ผิวหนังโดยตรง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว
ยาที่ใช้ทาในการรักษาฝ้า มีดังนี้
- ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นตัวยาหลักในการรักษาฝ้า ออกฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี ในปัจจุบันหากผสมกับยาตัวอื่นในสูตรที่พอเหมาะจะมี ประสิทธิภาพดีที่สุด แต่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้สูงมาก และห้ามใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากจะทำให้เกิดการดำมากแบบถาวรได้ ที่เรียกว่าภาวะโอโครโนซิส (ochronosis)
- ในปัจจุบันประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห้ามผสมสารตัวนี้ในเครื่องสำอางเกิน 2 % แต่ ยังอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์ได้ เนื่องจากแพทย์มีสูตรผสมที่ลดการระคายเคือง แพทย์เป็นผู้ที่ดูแลติดตามการรักษาเอง และแพทย์มีความรู้ที่จะทราบว่าจะให้ยาแก่ผู้ป่วยได้อย่างไร โดยไม่เกิดปัญหา
- ยาฝ้าสูตรใหม่ ๆ เช่น สาร licorice, arbutin, vitamin C cream, kojic acid, mulberry exteact, niacinamide เป็นต้น ยาสูตรเหล่านี้มีฤทธิ์อ่อนได้ผลไม่มากนัก แต่มีข้อดี คือ ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง อาจใช้ได้ดีในผู้ป่วยที่มีฝ้าจาง ๆ
- Retinoic acid เช่น tretinoin และ Azelaic acid เป็นยาทีมีใช้ทางการแพทย์มานาน ออก ฤทธิ์เร่งการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นบน ซึ่งมีเม็ดสีเมลานินสะสมอยู่มากออกไป แต่การใช้ยาทายาชนิดนี้ชนิดเดียวรักษาฝ้านั้นได้ผลช้ามาก มักใช้เวลานาน อาจถึง 6 เดือนขึ้นไป จึงจะเห็นผล ดังนั้นจึงนิยมใช้ร่วมกับยาทาตัวอื่น นอกจากนี้ยาอาจทำให้ระคายเคือง แสบคัน ลอกและหน้าแดง ได้บ่อยจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้กันมากนัก
- ยาทาคอร์ติโคสตีรอยด์ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน จึงสามารถทำให้ฝ้าจางได้ แต้ถ้าใช้ยาที่มีฤทธิ์แรง และใช้เป็นเวลานานอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ผิวบริเวณที่ทายาบางลง หลอดเลือดฝอยขยาย ขนขึ้น และเกิดสิว เป็นต้น
ที่มา : สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย